วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม




ประชา อินทร์แก้ว ( 2542 ) ได้ให้ความหมายของการอนุรักษ์เอาไว้ว่า การอนุรักษ์ ( Conservation ) หมายถึง การรู้จักใช้ทรัพยากร อย่างชาญฉลาด ให้เป็นประโยชน์ต่อมหาชนมากที่สุด และใช้ได้เป็นเวลายาวนานที่สุด ทั้งนี้ต้องให้สูญเสียทรัพยากรโดยเปล่า ประโยชน์น้อยที่สุด และจะต้องกระจายการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรโดยทั่วถึงกันด้วย ฉะนั้น การอนุรักษ์จึงไม่ได้หมายถึงการเก็บรักษาทรัพยากรไว้เฉย ๆ แต่ต้องนำทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ให้ถูกต้องตามกาละ เทศะ ( Time and Space ) อีกด้วย หลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีหลัก 3 ประการ คือ (ชัชพล ทรงสุนทรวงศ์ , 2546)
                   
1. ต้องใช้ทรัพยากรอย่างฉลาด กล่าวคือ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ถึงผลได้ผลเสียจากการใช้ทรัพยากรตามหลักเศรษฐศาสตร์ และเมื่อใช้แล้ว จะเกิดการขาดแคลนในอนาคตหรือไม่
                   
 2. ประหยัดของที่หายาก หมายความว่าทรัพยากรใดที่มีน้อยหรือหายากก็ควรเก็บรักษาหรือสงวนเอาไว้ไม่ให้สูญหายไป ของบางอย่างถ้าอยู่ในสภาพที่พอจะใช้ได้ก็ควรจะใช้ต่อไป และใช้อย่างประหยัดอย่าฟุ่มเฟือย
                   
3. หาวิธีฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีหรือเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น กล่าวคือ ทรัพยากรใดที่มีสภาพล่อแหลมต่อการสูญเปล่าหรือหมดไป ก็ควรที่จะซ่อมแซมหรือปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ดีขึ้น
                   
แนวทางในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
                   
ในการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาตินั้น มีแนวทางดำเนินการตามวิธีการต่าง ๆ ดังนี้ ( ชัชพล ทรงสุนทรวงศ์, 2546)
                   
1. ให้การศึกษาแก่นักเรียนและประชาชน การศึกษาจะช่วยให้คนเข้าใจ เกิดความตระหนัก เกิดจริยธรรมที่ดีและไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจะมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ดังนั้นการจัดการศึกษาในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติควรมีการสอดแทรกเข้าไปในบทเรียนทุกระดับชั้น เพื่อให้เยาวชนได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
                   
2. ออกกฎหมายควบคุม เนื่องจากกฎหมายเป็นข้อบังคับที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติตาม การนำข้อบังคับทางกฎหมายเข้ามาช่วยควบคุม หรือบังคับให้ผู้ก่อให้เกิดมลพิษจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ถือว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง หากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายก็จะได้รับโทษปรับหรือจำคุก กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ . ศ . 2535 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
                   
3. การแบ่งเขต เป็นการแบ่งเขตพื้นที่ตามประเภทของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ สาเหตุที่ใช้การอนุรักษ์แบบแบ่งเขต เนื่องจากวิธีการให้ความรู้และการใช้กฎหมายไม่ได้ผล หรือต้องการจะแบ่งเขตให้ชัดเจนเพื่อให้การอนุรักษ์ได้ผล และจะต้องมีการสร้างมาตรการกำกับในเขตที่แบ่งนั้นด้วย เช่น เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมืองควบคุมมลพิษ
                   
4. การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เนื่องจากการใช้ทรัพยากรเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและทำให้มีมลพิษเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันเราสามารถใช้เทคโนโลยีในการบำบัดหรือกำจัดของเสียที่เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการกำจัดมลพิษแต่ละชนิด
                   
5. จัดตั้งชมรมหรือสมาคมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติขึ้นในสถานศึกษา โดยมีกลุ่มนักศึกษาที่สนใจร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม
                   
6. การโฆษณาทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนต่าง ๆ เพราะการดำเนินการผ่านสื่อมวลชน จะทำให้ประชาชนทราบข่าวอย่างกว้างขวางและเข้ามามีส่วนร่วมได้มาก และยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเอาไว้ตลอดจนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมทั้งทราบถึงกฎหมาย พระราชบัญญัติ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบ ถ้าประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็จะทำให้ประชาชนทุกคนในประเทศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี
                   
7. การตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทำหน้าที่ประสานงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการอิสระในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานอื่น ๆ ที่รับผิดชอบได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ หรือตามกฎหมายเพื่อการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติต่อไป
                                         
    
                    วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรต่าง ๆ
                     วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรดิน มีอยู่ 2 วิธีการใหญ่ ๆ คือ โดยวิธีการปลูกพืช ( Agronomic Methods ) และโดยวิธีกล ( Mechanical Methods ) ( ราตรี ภารา , 2540)
                     1. การอนุรักษ์โดยวิธีการปลูกพืช วิธีการนี้พืชจะทำหน้าที่เป็นตัวสกัดกั้นพลังงานของเม็ดฝนที่ตกลงมาก่อนที่จะกระทบกับผิวดินช่วยลดความเร็วของน้ำที่ไหลบ่าและลดอำนาจการกัดเซาะของน้ำและยังช่วยให้ดินมีความพรุนมากขึ้น น้ำสามารถซึมลงไปในดินได้ดีขึ้น การควบคุม การเกิดกษัยการของกิน โดยอาศัยพืชมีอยู่หลายวิธีคือ 
                             1)  การปลูกพืชคลุมดิน
                             2) การปลูกพืชหมุนเวียน
                             3) การปลูกพืชสลับเป็นแถบ ซึ่งเป็นการปลูกพืชต่างชนิดกันสลับกันเป็นแถบตามความลาดชันของพื้นที่
                             4) การคลุมดิน
                             5) การปลูกพืชแบบนวเกษตร
                       2)  การอนุรักษ์โดยวิธีกล
                            การอนุรักษ์ดินโดยวิธีกล หมายถึง วิธีการเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายดินและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เพื่อใช้ป้องกันและควบคุมการพังทลายของดิน การเคลื่อนย้ายดินเป็นการดัดแปลงลักษณะภูมิประเทศของผิวดินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อทำให้พลังงานที่จะก่อให้เกิดการพังทลายของดินลดลง การป้องกันการพังทลายของดินโดยวิธีกลจะเสียค่าใช้จ่ายสูงต้องมีการออกแบบอย่างถูกต้องและเหมาะสมในวิธีการนั้น ๆ และต้องปฏิบัติร่วมกับ วิธีที่ใช้พืชในการป้องกันการพังทลายของดิน การอนุรักษ์ดินและน้ำโดยวิธีกลที่ใช้กันอยู่มีหลายวิธีคือ การปลูกพืชตามแนวระดับ คูเบนน้ำ ทางน้ำไหลและทางระบายน้ำออก การทำขั้นบันได การไถพรวนแบบอนุรักษ์ เป็นต้น
                    วิธีการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
                    การอนุรักษ์น้ำ หมายถึงการป้องกันปัญหาที่พึงจะเกิดขึ้นกับน้ำ และการนำน้ำมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำรงชีพของมนุษย์ การอนุรักษ์น้ำสามารถดำเนินการได้ดังนี้
                       1.การปลูกป่า
                          โดยเฉพาะการปลูกป่าบริเวณพื้นที่ต้นน้ำ หรือบริเวณพื้นที่ภูเขา เพื่อให้ต้นไม้เป็นตัวกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ ทั้งบนดินและใต้ดิน แล้วปลดปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี
                      2.การพัฒนาแหล่งน้ำ
                         เนื่องจากปัจจุบันแหล่งน้ำธรรมชาติต่าง ๆ เกิดสภาพตื้นเขินเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ปริมาณน้ำที่จะกักขังไว้มีปริมาณลดลง การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำเพียงพอจึงจำเป็นต้องทำการขุดลอกแหล่งน้ำให้กว้างและลึกใกล้เคียงกับสภาพเดิมหรือมากกว่า ตลอดจนการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม อาจจะกระทำโดยการขุดเจาะน้ำบาดาลมาใช้ ซึ่งต้องระวังปัญหาการเกิดแผ่นดินทรุด หรือการขุดเจาะแหล่งน้ำผิวดินเพิ่มเติม
                      3.การสงวนน้ำไว้ใช้
                         เป็นการวางแผนการใช้น้ำเพื่อให้มีปริมาณน้ำที่มีคุณภาพมาใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทำบ่อหรือสระเก็บน้ำ การหาภาชนะขนาดใหญ่เพื่อกักเก็บน้ำฝน (เช่น โอ่งหรือแท็งก์น้ำ) รวมทั้งการสร้างอ่างเก็บน้ำ และระบบชลประทาน
                      4.การใช้น้ำอย่างประหยัด
                         เป็นการนำน้ำมาใช้ประโยชน์หลายอย่างอย่างต่อเนื่องและเกิดประโยชน์สูงสูด ทั้งด้านการอนุรักษ์น้ำและตัวผู้ใช้น้ำเอง กล่าวคือ สามารถลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าน้ำลงได้ ปริมาณน้ำเสียที่จะทิ้งลงแหล่งน้ำมีปริมาณน้อยลง และป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ
                      5.การป้องกันการเกิดมลพิษของน้ำ
                         ปัญหาส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ๆ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หรือย่านอุตสาหกรรม การป้องกันปัญหามลพิษของน้ำ จะต้องอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำอย่างเคร่งครัด
                      6.การนำน้ำที่ใช้แล้วกลับไปใช้ใหม่
                         น้ำที่ถูกนำไปใช้แล้ว ในบางครั้งยังมีสภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ เช่น น้ำจากการล้างภาชนะอาหารสามารถนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ หรือน้ำจากการซักผ้าสามารถนำไปถูบ้าน สุดท้ายนำไปใช้รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
                      วิธีอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
                      การอนุรักษ์ป่าไม้สามารถกระทำได้ดังนี้ (ราตรี ภารา, 2540 )
                      1. การกำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติ
                          นโยบายป่าไม้แห่งชาติ มีอยู่ 20 ข้อที่สำคัญ คือ การกำหนดให้มีพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เป็นการกำหนดแนวทางการจัดการและ การพัฒนาป่าไม้ในระยะยาว
                     2. การปลูกป่า
                         เป็นการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ป่าไม้อย่างหนึ่ง เมื่อป่าไม้ในพื้นที่ถูกตัดฟันลงไม่ว่ากรณีใดก็ตาม นโยบายการรักษาป่าไม้จะกำหนดให้มีการปลูกป่าขึ้นทดแทนและส่งเสริมให้มีการปลูกสร้างสวนป่าทุกรูปแบบ
                     3. การป้องกันไฟไหม้ป่า
                       ไฟไหม้ป่าถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับป่าไม้การฟื้นฟูกระทำได้ยากมาก ไฟไหม้ป่าเกิดจากการกระทำของมนุษย์ จากความประมาทเลินเล่อ ทำให้ต้นไม้บางส่วนอาจตาย บางส่วนอาจชะงักการเจริญเติบโต และบางแห่งอาจตายหมด หากเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนพืชหมดโอกาสแพร่พันธุ์ได้
                     4. การป้องกันการบุกรุกทำลายป่า
                         การบุกรุกการทำลายป่าไม้ในปัจจุบัน จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น การป้องกันทำได้โดย การทำหลักเขตป้ายหรือเครื่องหมายให้ชัดเจนเพื่อบอกให้รู้ว่า เป็นเขตป่าประเภทใด การแก้ปัญหานี้สำคัญที่สุดอยู่ที่ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นไปด้วยความเที่ยงตรง เอาจริงเอาจัง และมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพและหน้าที่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมายและพระราชบัญญัติป่าไม้อย่าง เคร่งครัดจะสามารถป้องกันการทำลายป่าในทุกรูปแบบได้                      5. การใช้วัสดุทดแทนไม้
                         ในการก่อสร้างต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน หรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่เคยใช้ไม้ดั้งเดิม เช่น การสร้างสะพานเพื่อทดแทนสะพานเก่าที่ชำรุด ควรจะใช้เหล็กทำสะพานให้รถวิ่งชั่วคราว ก่อนจะมีสะพานใหม่ที่ถาวรและสร้างได้ด้วยวัสดุอื่นแทนไม้
                     6. การใช้ไม้อย่างมีประสิทธิภาพ / ประหยัด
                         เป็นการนำเนื้อไม้มาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยใช้ทุกส่วนของต้น เช่น ไม้ที่เหลือจากการแปรรูป นำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างแล้วสามารถนำ ไปเป็นวัตถุดิบทำไม้อัด ไม้ปาร์เก้ชิ้นไม้สับ (Chip board) ไม้ประสาน (Particle board) ทำเครื่องใช้ขนาดเล็ก เช่น แจกัน ที่เขี่ยบุหรี่ ของชำร่วย เป็นต้น ส่วนไม้ที่นำมาแปรรูปเพื่อใช้ในการก่อสร้างหรือเพื่อการอื่น ควรปรับปรุง คุณภาพไม้ ก่อนนำมาใช้ประโยชน์ เช่น การอาบน้ำยาไม้อบให้แห้งเพื่อยึด อายุการใช้งานให้ยาวนานออกไป
                     7. การพยายามนำไม้ที่ไม่เคยใช้ประโยชน์มาใช้
                        ไม้ที่ไม่เคยนำมาใช้ประโยชน์มาก่อน เช่น ไม้มะพร้าว ต้นตาล ไม้ยางพารา นำมาทำเครื่องใช้ในครัวเรือนได้หลายชนิด อาทิ ตู้ เตียง โต๊ะ ก่อนนำมาใช้ประโยชน์ ควรปรับปรุงคุณภาพไม้ก่อน
                     8. ส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ ให้การศึกษา
                       ให้เยาวชนและประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และช่วยกันดูแลในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ เหมือนกับที่เรารักษาและหวงแหนสิ่งของที่เป็นสมบัติของเราเอง
                      วิธีอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่า
                      สัตว์ป่ามีคุณค่าต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการป้องกันและแก้ไขไม่ให้สัตว์ป่าลดจำนวนหรือสูญพันธุ์ไปด้วยการอนุรักษ์สัตว์ป่า ดังนี้(ราตรี ภารา, 2540 )
                      1. การอนุรักษ์พื้นที่ สัตว์ป่าที่ลดจำนวนลงในปัจจุบัน เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารถูกทำลายลงอย่างมาก การจัดหาแหล่งที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยสำหรับสัตว์ป่า จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมาก วิธีการอนุรักษ์พื้นที่หรือถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าทำได้โดยประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ดังต่อไปนี้
                          1.1 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เป็นพื้นที่ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่า ปัจจุบันมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทั่วประเทศ 34 แห่ง เนื้อที่ 17,251,575 ไร่ และกำลังจะประกาศเพิ่มเติมอีก 5 แห่ง เนื้อที่ 1,425,087 ไร่
                           1.2 เขตห้ามล่าสัตว์ป่า เป็นสถานที่ที่ทางราชการได้กำหนดขึ้นเป็นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าบางชนิด
                          1.3 อุทยานสัตว์ป่า เป็นสถานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวในลักษณะซาฟารี ซึ่งจะอำนวยประโยชน์ทางด้านการศึกษา การวิจัย และขยายพันธุ์สัตว์ป่า ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่ที่ปลอดภัยของสัตว์ป่าชั่วคราวก่อนนำไปปล่อยในที่ที่เหมาะสมต่อไป
                      2. การอนุรักษ์สัตว์ป่าทางวิชาการ การค้นคว้าวิจัยทางวิชาการนับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดการและอนุรักษ์สัตว์ป่า ด้วยเพราะสัตว์ป่าเป็น สิ่งมีชีวิต จึงจำเป็นต้องกินอาหาร ต้องการความแข็งแกร่งทางร่างกายเพื่อต่อสู้โรคภัยไข้เจ็บและการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สัตว์ป่า บางชนิดต้องการที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นแหล่งผสมพันธุ์หรือเพาะพันธุ์รวมถึงการออกลูก อภิบาลตัวอ่อน การค้นคว้าทางวิชาการสามารถรู้ข้อมูลพฤติกรรม ของสัตว์ป่าแต่ละชนิด แล้วนำมาใช้ในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์หรือมีจำนวนน้อยลงได้
                        การอนุรักษ์สัตว์ป่าทางวิชาการ กระทำโดยสำรวจสัตว์ป่า ซึ่งกรมป่าไม้มีการปฏิบัติงานด้วย

                           
การจัดตั้งหน่วยงานโดยตรง ดังนี้
                           2.1 การตั้งสถานีวิจัยสัตว์ป่า
                           2.2 จัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่า
                           2.3 การจัดตั้งศูนย์การศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ของประชาชนในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า
                       3. การป้องกันและปราบปราม ทำได้โดย
                            3.1 การออกกฎหมายห้ามล่าสัตว์ป่า
                            3.2 ควบคุมการค้าสัตว์ป่า
                            3.3 การประชาสัมพันธ์ เป็นการส่งเสริมเผยแพร่ด้านความรู้เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของสัตว์ป่า   และให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์สัตว์ป่า
                      วิธีอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ธาตุ
                      การอนุรักษ์ทรัพยากรแร่จะแตกต่างกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติชนิดอื่น ๆ บ้างแต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องยึดหลักการอนุรักษ์ คือ การนำมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมและคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด มิใช่ห้ามขุด ห้ามนำมาใช้ การอนุรักษ์แร่ในปัจจุบัน มีหลายวิธี ดังนี้ (ราตรี ภารา, 2540 )
                           1. การดำเนินงานทางวิชาการ เป็นวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของการขุด การนำแร่ออกจากแหล่งแร่ รวมไปถึงการตกแต่งหรือแยกแร่ ตลอดจนการถลุงแร่ให้บริสุทธิ์ ในกรณีแร่โลหะ การเพิ่มประสิทธิภาพจะหมายถึง การพยายามสกัดเอาแร่ออกมาให้หมดหรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะต้องเพิ่มรายจ่ายหรือมีผลกำไรลดลงก็ตาม
                            2. การใช้แร่ธาตุอย่างมีประสิทธิภาพ คือการใช้แร่ธาตุอย่างประหยัด โดยให้เกิดการสิ้นเปลืองน้อยที่สุด แต่ได้ผลงานมากและใช้ได้นานที่สุด
                           3. การนำแร่ที่ใช้ประโยชน์แล้วกลับมาใช้ได้อีก ปัจจุบันเริ่มนิยมกระทำกันมากในวงการอุตสาหกรรม ด้วยการนำเศษวัสดุที่เป็นทั้งโลหะและอโลหะประเภทต่าง ๆ มาแยกประเภท แล้วนำมาแปรรูปหรือเข้ากระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง
                           4. การใช้สิ่งอื่นทดแทน การนำสิ่งอื่นหรือแร่ธาตุอื่นมาใช้ นับว่าเป็นการลดปริมาณของแร่ที่จะนำมาใช้ให้ลดน้อยลง และจะเพิ่มอายุการใช้งานของแร่ธาตุเหล่านั้นออกไป เช่น แร่เหล็ก ถูกนำมาใช้มากที่สุดในบรรดาแร่โลหะทั้งหลาย จนทำให้ปริมาณของแร่เหล็ก ลดน้อยลง ปัจจุบันได้นำแร่ชนิดอื่นมาทดแทนแร่เหล็ก แร่ธาตุที่เข้ามาแทนที่เหล็กมากขึ้น คือ อะลูมิเนียม นำมาใช้ทำวัสดุเครื่องใช้ ภาชนะต่าง ๆ
                           5. การยืดอายุการใช้งานแร่ธาตุให้ยาวนาน จัดว่าเป็นวิธีการใช้ประโยชน์จากแร่ธาตุอย่างถนอมและประหยัดอีกวิธีหนึ่ง เช่น ปัญหาการเกิดสนิมของเหล็กกล้า เนื่องจากเหล็กเกิดปฏิกิริยาเคมีกับอากาศได้ง่ายในที่ที่มีอากาศชื้น วิธีการป้องกันเหล็กเป็นสนิมอาจทำได้โดย
                            (1) ใช้สีทาผิวฉาบไว้
                            (2) การนำแร่โลหะบางชนิดผสมลงไปกับเหล็กหลอมให้เป็นเนื้อเดียวกัน จะช่วยลดอัตราการเกิดสนิมของเหล็กได้บ้าง ที่รู้จักกันดี ได้แก่ โลหะสแตนเลส (Stainless Steel) ซึ่งเกิดจากการนำเอานิเกิล และโครเมี่ยมมาหลอมละลายปนกับเหล็ก
                            6. การตรึงราคา เป็นการอนุรักษ์แร่โดยหลักเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากปริมาณที่มีจำกัดและความไม่สม่ำเสมอของการกระจายตัว ตลอดจนเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วสิ้นเปลืองไป ถ้าหากมีการควบคุมการผลิตให้สมดุลกับอัตราการใช้สอย จะลดความสิ้นเปลืองในการใช้แร่ลงได้
                            7. การควบคุมราคา เป็นการกำหนดให้มีราคาเดียวคงตัว มิให้มีการขึ้น ๆ ลง ๆ ตามสภาวะของตลาด จุดประสงค์ของการควบคุมราคา คือ
                             (1) ป้องกันการขาดแคลนแร่ธาตุที่นำมาใช้
                             (2) สงวนเงินตราต่างประเทศ เอาไว้ในกรณีแร่ธาตุชนิดนั้นต้องซื้อมาจากต่างประเทศ(3) ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อระบบการผลิตและบริการอื่น ๆ
                            8. การสำรวจแหล่งแร่ธาตุเพิ่มเติม แหล่งแร่ได้ถูกสำรวจและทำเหมืองเพิ่มมากขึ้นจนสามารถนำมาใช้งานอย่างไม่มีจำกัด ทำให้เกิดการ วิตกกังวล ในเรื่องการขาดแคลนแร่ธาตุในหมู่ประชาชนทั่วไป การสำรวจค้นหาแหล่งแร่ที่คาดว่ายังคงหลงเหลืออยู่ภายใต้ผิวโลก ด้วยเครื่องมือทันสมัย เกิดความ สะดวกและรวดเร็ว เช่น การใช้เครื่องตรวจสอบรังสี (Geiger Counter) ในการสำรวจแร่ยูเรเนียม การใช้เครื่องแมกนีโตมิเตอร์ (Magneto meter) สำรวจเหล็ก การใช้ระบบคลื่นแผ่นดินไหวเทียมเพื่อสำรวจน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการสำรวจคาดว่าอนาคต จะได้ทรัพยากรแร่จากทะเลและมหาสมุทรมากขึ้น




  ที่มา : http://www.keereerat.ac.th/webQuest/webman/conserve.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น